ข้อเข่าเสื่อม ใครบ้างไม่อยากหาย...


อาจเกิดจาก อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวมาก การใช้ข้อไม่เหมาะสม อุบัติเหตุ การติดเชื้อในข้อ

เมื่อเกิดข้อเสื่อม จะทำให้ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และ ผิวไม่เรียบ มีกระดูกงอกบริเวณขอบ ๆ ข้อ และ น้ำไขข้อผิดปกติ ปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม
ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่น่องและข้อพับเข่า ผิวหนังบริเวณข้ออุ่นหรือ ร้อนขึ้น
ข้อขัด ฝืด เหยียด-งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า จากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เรียบ
ข้อเข่าบวม
มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่า
เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง

เอกซเรย์ อาจพบว่า ช่องของข้อเข่าแคบลง มีกระดูกงอกตามขอบของกระดูกเข่าและกระดูกสะบ้า ความผิดปกติทางเอกซเรย์ ไม่สัมพันธ์กับอาการปวด บางคนเอกซเรย์พบว่าข้อเสื่อมมากโดยที่ไม่มีอาการปวด จึงอาจไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ในผู้ป่วยทุกราย

แนวทางรักษา แบ่งออกเป็น
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป
ผ้ารัดเข่า
กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อต้นขา
การรักษาโดยการใช้ยา
ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง
ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อ หรือ ยาชะลอข้อเสื่อม
ฉีดน้ำไขข้อเทียม ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นเฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000-16,000 บาท)
การผ่าตัด เช่น ผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดเข่าโก่ง ส่องกล้องเข้าไปในข้อ หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
วิธีผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย จะใช้ในผู้ที่มีอาการมาก และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เท่านั้น

การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อออก จะทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถือว่าเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น และ ไม่ควรฉีดมากกว่าปีละ 4 ครั้ง
       


การรักษาโดยการไม่ใช้ยาที่สามารถทำเองได้

1. ลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้า วิ่ง จะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง ทำให้เข่าเสื่อมช้าลงและอาการปวดก็จะลดลงด้วย

2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี
ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น เพราะการงอเข่ามากเกินไปจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น

3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มี รู ตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน ควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก
4. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว

6. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่า หรือ เหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ

7. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน
ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้

8. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือ ทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย

9. ใช้ไม้เท้า โดยเฉพาะ ผู้ที่ปวดมากหรือข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และ ช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม  ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือในข้างที่ถนัด

10. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทำโดยการนั่งแล้วเกร็งขาข้างที่ปวดขึ้น ไห้ขาเหยียดตรง ทำให้กล้ามเนื้อต้นให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น

11. การออกกำลังกายวิธีอื่น
ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น ไม่ ควร ออกกำลังกายที่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็ว ๆ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้และมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

12. ถ้ามีอาการปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า และ ประคบด้วยความเย็น หรือ ใช้ยานวดร่วมด้วยก็ได้



ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้

จุด มุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ เพื่อลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงถือว่าแนวทางรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น  การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และ บรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ก็มีอายุใช้งานได้นานแค่ 10 -15 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น