โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ กดทับเส้นประสาท

         เป็นโรคที่พบได้บ่อย ในกลุ่มคนหลายช่วงอายุ ในผู้ป่วยอายุน้อยมักมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูเคลื่อน (disc herniate) ในผู้ป่วยอายุมาก มักมีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังเสื่อม (degenerative change) ซึ่งอาจมีกระดูกงอก กระดูกสันหลังผิดรูป หรือมีหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนร่วมด้วย
  
อาการ
มักมีอาการปวดคอ ปวดไหล่ เป็นๆหายๆ ที่ไม่มีความผิดปกติของข้อไหล่ ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดร้าวไปแขน หรือร้าวไปหลังร่วมด้วย อาจมีอาการชาที่แขน หรือมือร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ในบางรายอาจรู้สึกแขนอ่อนแรง  กำมือไม่แน่น ถ้ามีส่วนที่กดทับเส้นประสาทไขสันหลังโดยตรง อาจทำให้ขาอ่อนแรง และเดินลำบากได้
  
การตรวจวินิจฉัย
จากรูปแบบของอาการที่เป็น และการตรวจร่างกาย สามารถให้การวินิจฉัยได้เป็นส่วนใหญ่ โดยมักไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่ม

เอ็กซเรย์กระดูกสันหลังส่วนคอ จะสามารถเห็นลักษณะกระดูกสันหลังส่วนที่ผิดปกติที่อาจมีกระดูกงอก หรือมีการผิดรูป เห็นขนาดของหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ไม่สามารถเห็นหมอนรองกระดูกสันหลังได้ชัดเจน และไม่สามารถเห็นเส้นประสาทที่ถูกกดได้
  

เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถเห็นหมอนรองกระดูกได่ชัดเจนว่ามีการเคลื่อนมากน้อยเพียงใด และกดเส้นประสาทเส้นไหน แต่ภาพที่ได้อาจไม่สามารถบอกถึงความรุนแรงของอาการได้ และไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเสมอไป จึงไม่ได้มีการทำในผู้ป่วยทุกราย แต่มักส่งทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดแล้ว เพื่อเป็นแนวทางประกอบในการเตรียมแผนการผ่าตัด

การรักษา
พักการใช้งานของกระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งกระดูกสันหลังส่วนนี้จะมีการใช้งานมากกรณีการยกของหนัก การทำงานที่ต้องก้มคอ หรือเงยคอบ่อยๆ หรือนานๆ เช่นการก้มเขียนหนังสือ การก้มเพื่อทำความสะอาดบ้าน การก้มดูโทรศัพท์เป็นเวลานาน และงานที่ต้องจ้องมองเป็นเวลานาน เช่นการขับรถ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
การบริหารคอ โดยเน้นการเคลื่อนไหวรอบทิศ ไม่เกร็งอยู่ท่าเดียวนานๆ
การใส่เฝือกอ่อนพยุงคอ
ช่วยพักการใช้งานและคอยเตือนไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่คอมากเกินไป

การนอนไม่หนุนหมอน จะทำให้กระดูกสันหลังส่วนคออยู่ในแนวตรง แต่การนอนหนุนหมอนสูงจะทำให้กระดูกสันหลังส่วนคออยู่ในท่าก้ม หากนอนเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดได้มาก

การทำกายภาพบำบัด
การประคบร้อน มักจะทำให้อาการดีขึ้นได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้ทำให้โรคดีขึ้น

การดึงคอ โดยใช้เครื่องดึงเพื่อยืดกระดูกคอมักจะทำให้อาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ควรทำนานเกินไปหรือทำบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้เอ็นที่ยึดกระดูกคออาจยืดออก และทำให้มีอาการมากขึ้นได้ ในบางรายที่ดึงแล้วมีอาการปวดมากขึ้น ไม่ควรดึงต่อเพราะอาจทำให้โรคเป็นมากขึ้นได้
การนวด อย่างถูกวิธี และไม่รุนแรงเกินจะทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่ได้ทำให้โรคดีขึ้น

การรักษาด้วยยา
การรับประทานยา จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
การฉีดยา เข้าเส้นประสาทบริเวณสะบักมักจะทำให้อาการดีขึ้นได้มาก และรวดเร็ว สามารถลดอาการได้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ในบางรายอาจทำให้อาการหายได้

การผ่าตัด จะทำในรายที่รักษาโดยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผลดี หรือมีอาการอ่อนแรงมาก เดินลำบาก หรือมีอาการปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระผิดปกติ โดยการผ่าตัดจะเป็นการเข้าไปแก้ไขกระดูกหรือหมอนรองกระดูกในส่วนที่มีการกดเส้นประสาทให้หายกดเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้กระดูกเสื่อมทั้งหมดหายเป็นปกติได้ และอาการที่เป็นอาจต้องรอให้เป้นประสาทที่ได้รับการแก้ไขนั้นกลับมาทำงานได้อาการจึงจะดีขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน หรืออาจดีขึ้นไม่ทั้งหมด

สรุป
การรักษายังไม่สามารถทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ แต่เป็นการทำให้อาการน้อยลง หรืออาการหายไปแต่ความผิดปกติของกระดูก หรือหมอนรองกระดูกยังมีอยู่ จึงสามารถกลับมามีอาการได้อีก การรักษาที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการปรับตัวการปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่จะทำให้มีอาการมากขึ้น เพราะจะทำให้เส้นประสาทที่ถูกกดบ่อยครั้งมีอาการแย่ลงได้

โรคปวดหลัง

โรคปวดหลัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งเรื่องที่มีอันตราย และไม่มีอันตราย
หลังประกอบไปด้วยส่วนที่เห็นกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ รวมทั้งยังมีอวัยวะภายในที่อยู่ใกล้เคียง เช่นไต กระเพาะอาหาร ตับอ่อน เป็นต้น
สาเหตุต่างๆที่พบบ่อย เช่น

1. กล้ามเนื้ออักเสบ มักมีสาเหตุมาจากการทำงานหนักจนเกินไป ทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรืออาจมีการก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ ถ้าอาการปวดหลังเกิดมาจากสาตุนี้ ก็คงไม่มีอันตรายมากเพียงแต่มีอาการปวดเท่านั้น ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา ไม่มีปวดร้าวไปที่ท้อง ไม่มีอาการชา ซึ่งการรักษาก็ต้องหยุดพักจากงานที่ทำ เพราะถ้ายิ่งทำ การอักเสบย่อมมีมากขึ้น รับประทานยาแก้อักเสบ คลายกล้มเนื้อก็มักจะหายได้

2. หมอนรองกระดูกเคลื่อน มักเป็นในคนอายุ ประมาณ 30-50 ปี มีการทำงานหนัก ยกของหนัก อาการปวดมักจะร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ 2 ข้าง การปวดร้าวจะเลยเข่าลงไปถึงน่อง หรืออาจถึงปลายเท้าก็ได้ อาจมีอาการชาร่วมด้วย อาจรู้สึกขาข้างนั้นไม่ค่อยมีแรง การรักษาก็ต้องหยุดพักจากงานที่ทำ และอาจต้องนอนพักแบบนอนทั้งวัน เพื่อให้กระดูกสันหลังได้พัก ประมาณ 4 – 5 วัน มักต้องรับประทานยาหลายๆ อย่างร่วมกันเพื่อทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งหากรับประทานยาติดต่อกันมากกว่า 6 สัปดาห์ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องผ่าตัดเพื่อเอาหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนนั้นออก

3. กระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท มักเป็นในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี มีอาการปวดหลัง อาจมีอาการปวดร้าวลงขาหรือ ไม่มีก็ได้ อาจมีอาการชาร่วมด้วย มักมีอาการขาอ่อนแรง เดินได้ไม่ไกล เมื่อเดินได้ระยะหนึ่ง อาจมีอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงจนเดินต่อไม่ไหว ต้องหยุดนั่งพักแล้วจึงเดินต่อได้ ควรรักษาแบบตามอาการก่อน โดยการลดการทำงาน ลดการเดิน รับประทานยา กายภาพบำบัด เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้หายในทันที หากอาการไม่ดีขึ้นจึงพิจารณาผ่าตัด

4. กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกพรุน พบในผู้สูงอายุ มีอาการปวดหลังง่าย ไม่ควรให้ยกของ หรือทำงานหนัก เพราะ กระดูกสันหลังที่อยู่ในภาวะกระดูกพรุนจะเปราะ และหักง่าย การหกล้มเบาๆ การก้มเก็บของ การนั่งถอนหญ้า อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบ หรือหักได้ ควรรักษาโดยการ ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย ไม่หกล้มง่าย มีราวจับ งดการทำงานหนัก รับประทานยาเพื่อลดอาการปวด และ รับประทานยาเพื่อช่วยบำรุงกระดูกควบคู่ไปด้วย

วิธีการอ่านผลการตรวจมวลกระดูก อย่างง่ายๆ

อันแรก ผลตรวจบริเวณกระดูกสันหลัง


อันต่อมา ผลตรวจบริเวณกระดูกสะโพก

และ ผลตรวจบริเวณกระดูกข้อมือ
สำหรับผู้ที่เพิ่งตรวจไป จะได้มีความเข้าใจมากขึ้นนะครับ
หรือ ถ้ามีโอกาสได้ตรวจซ้ำ จะได้รู้ว่าผลเป็นอย่างไร

ตรวจมวลกระดูก

เมื่อวานจัดตรวจมวลกระดูกที่คลินิก
ผ่านไปได้อย่างราบรื่น พอสมควรครับ
มี comment จากคนไข้หลายข้อ จะนำไปปรับปรุงครับ
จัดครั้งต่อไป วันอาทิตย์ ที่ 21 สิงหาคม 2554 ครับ
ใครสนใจ มาลงชื่อที่คลินิกก่อนนะครับ
เพราะครั้งนี้คิดว่าคงจำกัดจำนวนประมาณ 30 ราย

ตรวจวัดมวลกระดูก

ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี , หญิงวัยหมดประจำเดือน , ผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุน กระดูกเสื่อม
หรือผู้ที่สนใจ
ต้องการจะตรวจหามวลกระดูก

สอบถาม และลงชื่อได้ที่คลินิกครับ
รับจำนวนจำกัดครับ

โรคนิ้วล๊อค (Trigger finger)



 โรคนิ้วล๊อค

ลักษณะของโรค
มีการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็นด้านฝ่ามือ ซึ่งถ้าการอักเสบเป็นมากขึ้นจะทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัว และเส้นเอ็นนูนขึ้นเรียกว่า nodule ได้ เมื่อ nodule นี้โตขึ้นทำให้การขยับของเส้นเอ็นผ่านใต้ปลอกหุ้นเส้นเอ็นทำได้ลำบาก เกิดสะดุดเรียกว่า triggering หรือนิ้วล๊อคขึ้น

สาเหตุ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการใช้งานของนิ้วมือที่มากเกิน มีการเกร็งนานๆ หยิบจับ หรือหิ้วของนานๆ
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์

อาการ
เริ่มแรก จะเริ่มมีอาการปวดเวลาขยับนิ้วที่เป็น อาจเหยียดได้ไม่สุด อาจมีความรู้สึกสะดุดเวลากำมือ หรือแบมือ อาจคลำได้ก้อนนูนบรเวณโคนนิ้ว

ความรุนแรงแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
  1. มีอาการปวดนิ้วมือ โดยเฉพาะบริเวณโคนนิ้ว
  2. มีความรู้สึกสะดุด แต่ยังกำมือ แบมือได้เต็มที่
  3. กำมือ หรือแบมือได้ไม่สุด ต้องใช้มืออีกข้างช่วยเวลา กำ-แบ
  4. ไม่สามารถกำมือได้ 

การรักษา
  • ถ้ามีอาการน้อยแนะนำใช้พักการใช้งานของนิ้วมืออาจใส่เฝือกดามบริเวณนิ้ว แช่ในน้ำอุ่น เช้า-เย็นครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง และรับประทานยาแก้อักเสบ-แก้ปวด
  • ถ้ามีอาการมากขึ้นหรือใช้วิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ใช้วิธีฉีดยาลดการอักเสบเข้าบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งมักต้องใช้การรักษาในข้อ 1 ร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายจากอาการนิ้วล๊อคหลังจากฉีดยาเข็มแรก ส่วนอีกร้อยละ 25 จะหายหลังจากการฉีดยาเข็มที่สอง
  • ถ้ากำมือไม่ได้เลยหรือใช้วิธีการฉีดยาแล้วไม่ดีขึ้น ให้เลือกใช้วิธีการผ่าตัด
การผ่าตัด
             ทำได้โดยวิธีการฉีดยาชาเฉพาะที่ มีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล ปิดผ้าพันแผลไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ 

โรคกระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง

 โรคกระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง  คือภาวะที่เนื้อกระดูกลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ภายในของกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น 

ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะ ลดลงอย่างช้า ๆ แต่ใน ผู้หญิง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นจะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็น โรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง และ ถ้ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างก็มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้นอีก 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
1.      การกินอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น กินอาหารที่มีโปรตีนสูง (เนื้อสัตว์) หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง (รสเค็ม) แต่กินอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย
2.      ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก 
3.      สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน 
4.      ผู้หญิงหลังจากหมดประจำเดือน เชื่อว่าเกิดจาก ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน 
5.      กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีคนในครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 
6.      น้ำหนักตัว คนผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีไขมันมากซึ่งไขมันนี้สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้ 
7.      เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดวิตามินดี โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งบางชนิด 
8.      ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
9.      อายุมากกว่า 60 ปี
***  ข้อ 1 ถึง 3 เป็นปัจจัยที่เราแก้ไข้ได้  ***

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน 
·  ประวัติความเจ็บป่วย แต่ผู้ป่วยมักจะปกติดี อาจมีอาการปวดหลังบ่อยๆ
·  มีกระดูกหัก ซึ่งตำแหน่งที่ได้บ่อยคือบริเวณ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง 
·  การเอ๊กซเรย์กระดูก 
·  การวัดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้าบริเวณเท้า (ไม่มีความแม่นยำในการตรวจ จึงไม่ได้มีการนำมาใช้ในการ ตรวจรักษา) 
·  การวัดความหนาแน่นของเนื้อกระดูกด้วยเครื่อง Dual-Energy X-ray Absorptiometry (DEXA) (ปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้มากที่สุด)
·  การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจสารเคมีในเลือด 
·  การตัดชิ้นเนื้อกระดูกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา 

แนวทางรักษา
 ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่ 
1.      การออกกำลังกาย ซึ่งต้องมีการแบกรับน้ำหนักขณะออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเดิน การยกน้ำหนัก
2.      ขจัดปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น การดื่มสุรา ดื่มกาแฟ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น 
3.      การรักษาด้วยยา
3.1  แคลเซี่ยม เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูก
3.2  วิตามินดี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซี่ยมได้ดีขึ้น
3.3   ยาที่มีฤทธิ์ลดการทำลายกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนิน ยากลุ่มบิตฟอสโฟเนต 
3.4  ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่นฮอร์โมนพาราไทรอยด์