โรคกระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง

 โรคกระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง  คือภาวะที่เนื้อกระดูกลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ภายในของกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น 

ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะ ลดลงอย่างช้า ๆ แต่ใน ผู้หญิง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นจะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็น โรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง และ ถ้ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างก็มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้นอีก 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
1.      การกินอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น กินอาหารที่มีโปรตีนสูง (เนื้อสัตว์) หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง (รสเค็ม) แต่กินอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย
2.      ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก 
3.      สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน 
4.      ผู้หญิงหลังจากหมดประจำเดือน เชื่อว่าเกิดจาก ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน 
5.      กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีคนในครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 
6.      น้ำหนักตัว คนผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีไขมันมากซึ่งไขมันนี้สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้ 
7.      เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดวิตามินดี โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งบางชนิด 
8.      ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
9.      อายุมากกว่า 60 ปี
***  ข้อ 1 ถึง 3 เป็นปัจจัยที่เราแก้ไข้ได้  ***

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน 
·  ประวัติความเจ็บป่วย แต่ผู้ป่วยมักจะปกติดี อาจมีอาการปวดหลังบ่อยๆ
·  มีกระดูกหัก ซึ่งตำแหน่งที่ได้บ่อยคือบริเวณ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง 
·  การเอ๊กซเรย์กระดูก 
·  การวัดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้าบริเวณเท้า (ไม่มีความแม่นยำในการตรวจ จึงไม่ได้มีการนำมาใช้ในการ ตรวจรักษา) 
·  การวัดความหนาแน่นของเนื้อกระดูกด้วยเครื่อง Dual-Energy X-ray Absorptiometry (DEXA) (ปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้มากที่สุด)
·  การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจสารเคมีในเลือด 
·  การตัดชิ้นเนื้อกระดูกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา 

แนวทางรักษา
 ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่ 
1.      การออกกำลังกาย ซึ่งต้องมีการแบกรับน้ำหนักขณะออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเดิน การยกน้ำหนัก
2.      ขจัดปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น การดื่มสุรา ดื่มกาแฟ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น 
3.      การรักษาด้วยยา
3.1  แคลเซี่ยม เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูก
3.2  วิตามินดี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซี่ยมได้ดีขึ้น
3.3   ยาที่มีฤทธิ์ลดการทำลายกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนิน ยากลุ่มบิตฟอสโฟเนต 
3.4  ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่นฮอร์โมนพาราไทรอยด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น